ประวัติโรงพยาบาล

   

   เนื่องด้วยโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ต้องการขยายขีดความสามารถในด้านการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น เนื่องจากกองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมให้ขยายและจัดตั้งหน่วยกำลังรบหน่วยสนับสนุนและหน่วยการศึกษาขึ้น ในพื้นที่สัตหีบ จึงทำให้ข้าราชการ ลูกจ้างและครอบครัวของทหารเรือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์ด้วย ทำให้มีประชาชนเข้ามาประกอบอาชีพในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก แต่โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ มีพื้นที่จำกัดรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย ทางกองทัพเรือมีความเห็นว่าน่าจะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในพื้นที่สัตหีบ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขนาด 1000 เตียง จากการสำรวจพื้นที่พบว่าบริเวณส่วนหนึ่งของสนามบินอู่ตะเภา กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ คือบริเวณสี่แยกบ้าน กม.10 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ขนาดเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ เป็นพื้นที่เหมาะสม ประกอบกับในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ทางกองทัพเรือจึง อนุมัติให้การสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระ นางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 18 สิงหาคม 2535 และได้ขอพระราชทานนามของโรงพยาบาลแห่งใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า " โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ "

การดำเนินการก่อสร้าง

กองทัพเรือได้จัดทำโครงการก่อสร้าง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสนอขออนุมัติกระทรวงกลาโหม มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ( ปีงบประมาณ 2535-2538 ) วงเงินรวม 1,809 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าออกแบบจำนวน 18 ล้านบาท ค่าปรับถมพื้นที่ 10 ล้านบาท ค่าเครื่องมือแพทย์ 400 ล้านบาทและค่าก่อสร้าง 1,381 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติโครงการ แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงพยาบาลดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณดำเนินการสูงและมีระยะเวลาการก่อสร้างยาวนาน กองทัพเรือได้เสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปี คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อ26 พ.ย.2534 อนุมัติให้กองทัพเรือผูกพันข้ามปีงบประมาณในปี งป. 35-38 วงเงินรวม 1,989.9 ล้านบาท

กองทัพเรืออนุมัติหลักการให้ดำเนินการก่อสร้าง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พร้อมกับอนุมัติ หลักการว่าจ้างการออกแบบก่อสร้างและเพื่อให้การจัดจ้างก่อสร้าง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยมีผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพเรือฝ่ายยุทธบริการเป็นประธาน มีหน้าที่พิจารณาแบบ ตำบลที่พร้อมประมาณการค่าก่อสร้าง และให้เสนอขออนุมัติแบบและตำบลที่ในโอกาสแรก เป็นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้าง รวมทั้งรับผิดชอบติดตามและตรวจสอบผลการออกแบบก่อสร้าง การจัดจ้างก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา จนกว่าจะพ้นเวลารับประกันตามที่ระบุไว้ในสัญญา (1 ปี) กรมช่างโยธาทหารเรือ ได้ออกประกาศคัดเลือกผู้รับจ้างออกแบบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยวิธีคัดเลือกแบบจำกัดข้อกำหนด ผลการคัดเลือกปรากฏว่ามีผู้เสนอจำนวน 2 ราย คณะกรรมการดำเนินการว่าจ้างออกแบบเห็นควรให้เลือก บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างในวงเงิน18 ล้านบาทกองทัพเรือได้เสนอปลัดกระทรวงกลาโหม ขออนุมัติว่าจ้าง บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัดออกแบบงานก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในวงเงิน 18 ล้านบาท ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติว่าจ้างตามที่กองทัพเรือเสนอ บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จและได้เสนอคณะกรรมการจัดจ้าง ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้วได้เสนอกองทัพเรืออนุมัติแบบ ตำบลก่อสร้าง ซึ่งกองทัพเรือได้อนุมัติแบบและตำบลที่เมื่อ 8 กรกฎาคม 2535 กรมช่างโยธาทหารเรือ ได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโรงพยาบาล โดยกำหนดวันยื่นซองประกวดราคาใน 19 สิงหาคม 2535 มีผู้เสนอราคา 6 ราย ปรากฏว่าผู้เสนอราคามีคุณสมบัติและเสนอเงื่อนไขต่าง ๆ ถูกต้องเพียง 4 ราย บริษัท เอสทีเอ็น คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 1,034,926,671 บาท พร้อมกับเสนอสำนักงบประมาณขอความเห็นชอบราคาว่าจ้างก่อสร้างโรงพยาบาลฯ ตามระเบียบการ การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ พ.ศ. 2534 ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้ว่าจ้าง บริษัท เอสทีเอ็นฯ ทำการก่อสร้างโรงพยาบาลฯ และสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบราคาว่าจ้างแล้ว กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง บริษัท เอสทีเอ็น คอนสตรัคชั่น จำกัด ทำการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในวงเงิน 1,034,926,671 บาท ในวันที่ 29 กันยายน 2535 ระยะเวลาเริ่มต้นการก่อสร้าง 9 ตุลาคม 2535 สิ้นสุด 20 พฤศจิกายน 2538 แบ่งงวดงานออกเป็น 35 งวด ดังนี้

1. อาคารรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน 1 หลัง
        2. อาคารพิเคราะห์และบำบัดโรค 1 หลัง
        3. อาคารหอพักคนไข้ 2 หลัง
        4. อาคารอำนวยการ 1 หลัง
        5. อาคารบริการ 3 หลัง
        6. อาคารพักเจ้าหน้าที่ 2 หลัง
        7. อาคารโรงอาหาร 1 หลัง
        8. อาคารเก็บศพ 1 หลัง
        9. ระบบปรับอากาศ โทรศัพท์
        10. ระบบผลิตน้ำประปา
        11. ระบบบำบัดน้ำเสีย
        12. ระบบไฟฟ้า , ประปา
        13. สิ่งอำนวยความสะดวก

 

 

 

 

 
สีประจำโรงพยาบาล
 
 
      
          สีฟ้า...เป็นสีประจำวันศุกร์ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ
                สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ
           สีขาว...เป็นสีประจำหน่วย